จับสัญญาณดอกเบี้ย “ขาลง” “บาทแข็ง” ทุบซ้ำส่งออกติดลบ

อัปเดตล่าสุด 24 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 366 Reads   

เอฟเฟ็กต์ “เฟด” ส่งสัญญาณดอกเบี้ย “ขาลง” ฉุดค่าบาทแข็งเร็ว-แรงทุบสถิติในรอบ 6 ปี พาณิชย์เผยปม “บาทแข็ง” ผสมโรง “เทรดวอร์” ทุบส่งออกเดือน พ.ค. ติดลบ 5.8% หวั่นครึ่งปีหลังทรุดหนัก ทุกสำนักฟันธงประชุม กนง.รอบ 26 มิ.ย. “คงดอกเบี้ย” ลุ้นสัญญาณลดดอกเบี้ยช่วงครึ่งปีหลัง “ซีไอเอ็มบีไทย” เตือน “เงินร้อน” ทะลักเข้าไทย หนุนแบงก์ชาติดูแลบาทแข็ง พร้อมรับมือสงครามค่าเงิน

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติ 9 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25-2.50% ในการประชุมรอบล่าสุด พร้อมส่งสัญญาณชัดที่จะ “ลดดอกเบี้ย” ในช่วงครึ่งหลังราว 0.50% ส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นทันที โดยวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากเปิดตลาดที่ 31.17 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปปิดตลาดที่ 30.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเปิดตลาดช่วงเช้า 21 มิ.ย.อยู่ที่ 30.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เตือน “เงินร้อน” ทะลักเข้าไทย
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค สาเหตุสำคัญมาจากนักลงทุนมีความมั่นใจต่อเสถียรภาพค่าเงินบาท จากบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลสูงต่อเนื่อง ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยหลายประเทศเปลี่ยนทิศเป็น “ขาลง” ขณะที่ไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และไม่คิดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่มีความไว้วางใจนำเงินมาพัก

“เรามีลักษณะที่คล้ายญี่ปุ่น จากการที่เศรษฐกิจนิ่งและมีเงินบัญชีเดินสะพัดสูง ทำให้เงินร้อนไหลเข้าไทย และความเสี่ยงเกิดขึ้น ตรงนี้ ธปท.จะต้องเข้ามาดูว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขันหรือไม่” นายอมรเทพกล่าว

ขณะเดียวกันก็ต้องจับตาว่า ธปท.จะรับมือกับสงครามการค้าที่เกิดขึ้น และลุกลามไปเป็นสงครามค่าเงินอย่างไร หากธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อทำให้ค่าเงินของตนเองอ่อนค่า รวมถึงปัญหาที่เงินบาทที่แข็งค่าจนกระทบภาคส่งออก ซึ่งหากทั้งสองปัจจัยนี้รุนแรงขึ้น เชื่อว่า ธปท.จะไม่ปิดประตูดอกเบี้ยขาลง

ส่งสัญญาณดอกเบี้ย “ขาลง”
นายอมรเทพ กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 26 มิ.ย. เชื่อว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% เนื่องจากยังคงให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบการเงินไทย ทั้งประเด็นการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง (เสิร์ชฟอร์ยีลด์) จากที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ระดับต่ำมานาน รวมถึงภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวเพิ่มขึ้น และการปล่อยสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นมาก จนมีผลต่อหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

“สิ่งที่จะแตกต่างจากเดิม คือดอกเบี้ยทั่วโลกที่กลับทิศเป็นขาลงนั้น คาดว่า ธปท.จะสื่อสารในการประชุมครั้งนี้ว่า ยังมีเครื่องมือที่จะดูแลระบบเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนอยู่” นายอมรเทพกล่าว และ กนง.รอบนี้คงจะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยลงด้วย เนื่องจากภาคส่งออกที่ชะลอตัวมากขึ้นจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อและการลงทุนในประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว ซึ่งมาจากฐานที่สูงในช่วงก่อนหน้านี้

บาทแข็งค่าสุดรอบ 6 ปี
นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักวิเคราะห์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี โดยแข็งค่าเร็วตามภูมิภาคเอเชียและกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เป็นผลมาจากตลาดมั่นใจมากว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมรอบหน้า (ก.ค.) รวมถึงกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐ จะเจรจากับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนในเวทีการประชุมผู้นำจี 20 ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้

แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง หากเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่วนเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเงินตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย โดยคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้น 5 หมื่นล้านบาท และตลาดพันธบัตร (บอนด์) 1 แสนล้านบาท และประเมินว่าปลายปีนี้เงินบาทน่าจะอยู่ที่ประมาณ 30.50-31.80 บาทต่อดอลลาร์

นอกจากนี้นายจิติพลกล่าวว่า เชื่อว่าการประชุม กนง. ในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมปรับลดประมาณการเติบโตจีดีพีลงเหลือราว 3% ต้น ๆ จากเดิมคาดไว้ 3.8% เนื่องจากมีความเป็นห่วงเสถียรภาพของระบบการเงิน รวมถึงมีปัจจัยเสี่ยงอย่างสงครามการค้า การส่งออกที่ชะลอลง และสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่า

“แต่หากปีนี้เฟดมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% และเงินบาทแข็งค่าไปอยู่ที่ระดับ 30.50 ต่อดอลลาร์ ธปท.คงจะต้องมีมาตรการอะไรออกมา ซึ่ง ธปท.ยังมีไพ่ในมือคือดอกเบี้ย โดยหากไม่มีมาตรการอื่น กนง.ก็อาจต้องปรับลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 0.25% รวมทั้ง ธปท.อาจจะผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ อาทิ มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ที่อาจจะปรับใหม่ หรือสินเชื่อรถยนต์ก็อาจจะไม่รีบออกมาตรการมาคุมเข้ม” นายจิติพลกล่าว

โอกาสขึ้นไม่มี-ยังไม่ถึงเวลาลด
ด้านนายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธปท.คงไม่ลดดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างเหมาะสม คือ 1.75% ไม่ได้สูงเกินไป แม้ดอกเบี้ยโลกทิศทางจะอยู่ในขาลงก็ตาม ยกเว้นมีสถานการณ์ที่กระทบเศรษฐกิจหนัก ๆ ถึงกับภาวะ “ช็อก” เช่น ส่งออกติดลบ 3-5% จากที่คาดว่าจะขยายตัว 0.5% การบริโภคภาคเอกชนหดตัวมาก ๆ เป็นต้น แบบนั้นถึงจะมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้

“ถามว่า โอกาสขึ้นมีไหม ไม่มีแล้ว ส่วนโอกาสลง มี แต่ถ้าให้ฟันธงจากมุมของแบงก์คิดว่าแบงก์ไม่ได้เตรียมตัวว่าดอกเบี้ยจะลง มองในทางกลับกัน ดอกเบี้ยเงินฝากแข่งกันมากขึ้น ซึ่งถ้าเศรษฐกิจแย่ต่อเนื่องจากโต 3% กว่าไปเหลือ 2% ปีหน้า ก็อาจจะเห็นดอกเบี้ยลง แต่ถ้ายังทรง ๆ ธปท.ก็ไม่น่าจะลด เพราะ กนง.เพิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเมื่อปลายปี 2561” นายนริศกล่าว

ธปท.เกาะติดเงินร้อน “เก็งกำไร”
นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท.กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งกว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค จากปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศ โดยปัจจัยภายนอกมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เงินบาทและเงินสกุลกลุ่มประเทศเกิดใหม่ผันผวนสูง ซึ่ง ธปท.ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

“หากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องและเร็วขึ้นเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่ง อาจเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานของไทย และอาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ธปท.จะเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์ในการใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้นเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ไม่พึงประสงค์” นางสาววชิรากล่าว

ทุบส่งออก พ.ค.ติดลบ 5.8%
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ส่งออก เดือน พ.ค. 2562 มีมูลค่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบ 5.8% จากเดือน เม.ย.ที่ติดลบ 2.5% ส่วนการนำเข้าเดือน พ.ค.มีมูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.6% โดยไทยเกินดุลการค้า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) ลดลง 2.7% มีมูลค่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้ามูลค่า 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1% โดยไทยยังได้ดุลการค้า 731 ล้านเหรียญสหรัฐ

“สาเหตุที่ส่งออกลดลงต่อเนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบกำลังซื้อทั่วโลกอย่างชัดเจน และผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมลดลง 5.8% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 รวมถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่า ทำให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากไทย ส่งผลให้การส่งออกกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 1.4%”

ส่วนใหญ่เป็นการลดลงฝั่งไทยส่งออกไปจีน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามถือว่าไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ส่งออกติดลบ 17% เนื่องจากไทยสามารถกระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นได้ดี และยังมีสินค้าอีกหลายกลุ่มที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง นาฬิกา อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการคือควรประกาศเริ่มเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการค้าโลก

ปรับคาดการณ์ส่งออกปีนี้โต 0%
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีผลกระทบต่อการส่งออกในเดือน พ.ค.นี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นการแข็งค่ามากที่สุด แต่ถือเป็นปัจจัยระยะสั้น เมื่อมีรัฐบาลใหม่มาเชื่อว่าจะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ สำหรับมาตรการผลักดันการส่งออกครึ่งหลังปี 2562 จะเน้นกระจายความเสี่ยงการส่งออกโดยปูพรมให้สินค้าไทยเข้าไปในทุก ๆ ตลาด ควบคู่กับส่งเสริมการลงทุนและการบริการ เช่น กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซียและแคนาดา

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทนอย่างสินค้าเกษตร ประมง และอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ ๆ เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

ขณะที่นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าหลุด 31 บาทต่อดอลลาร์ไม่เป็นผลดีต่อการค้าของไทย และเกรงว่าจะส่งผลกระทบกับภาคการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังหนักขึ้น หลังจากช่วง 5 เดือนแรกส่งออกของไทยติดลบ 2.7%

ขณะที่ทิศทางการส่งออกสินค้าไทยในช่วง 7 เดือนที่เหลือ (มิ.ย.-ธ.ค.) ยังเผชิญความท้าทายจากประเด็นเรื่องการกีดกันทางการค้า ศูนย์วิจัยกสิกรฯจึงทบทวนการส่งออกปี 2562 โดยปรับประมาณการเติบโตลงจาก 3.2% ลงเหลือ 0%